เด็กไทยติดเกมแนะพ่อแม่ พาลูกหลานขยับร่างกาย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กไทยติดเกม แนะ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชวนลูก หลานขยับเคลื่อนไหวร่างกาย กระตุ้นการเจริญเติบโต และพัฒนาการ แทนการติดเกมหรือมือถือ

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกระแส การเล่นเกมเพื่อเป็นกีฬา (E-Sport) อาจทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดว่าการส่งเสริมให้ลูกเล่นเกมจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งจากคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ตั้งแต่ยังเล็กเป็นสิ่งที่ดี โดยพฤติกรรมเหล่านี้กลับส่งผลให้พัฒนาการของเด็ก แย่ลง ทั้งด้านสติปัญญา ภาษา สมาธิ และสังคม โดยเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี เป็นช่วงเวลาทองของชีวิต ที่สมองจะมีการสร้างเส้นใยประสาทและวงจรการทำงานได้มากและรวดเร็วที่สุด เด็กควรได้รับการส่งเสริมให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายผ่านการเล่นกับพ่อแม่ พี่น้อง ธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ ปั้นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ ต่อบล็อก เล่นบทบาทสมมติ ทำครัว ช่วยเหลืองานบ้าน ทำงานศิลปะ ฟังดนตรี และได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์จริงในสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะทำให้พัฒนาการสมวัยในทุกด้าน และทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในทักษะต่างๆ ที่ได้จากการเล่น ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การวางแผน การควบคุมยับยั้งตนเอง ความมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกปัจจุบัน

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับเด็กวัยเรียน จะเป็นวัยที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ปีนป่าย กระโดดโลดเต้น เล่นสนุก เล่นกีฬา สะสมอย่างน้อย 60 นาทีในแต่ละวัน จะทำให้ร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง สมาธิดีขึ้น สร้างความมั่นใจและภูมิใจ ในตัวเองโดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม เด็กวัยเรียนจะมีเวลาว่างมากขึ้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจำกัดชั่วโมงการเล่นเกม ให้น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน

"ทั้งนี้ การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการเล่นและขยับเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ไม่ยาก พ่อแม่ไม่จำเป็นต้อง ซื้อของเล่นหรือเกมสำเร็จรูปราคาแพงให้ สำคัญที่สุดคือการที่พ่อแม่ให้เวลากับลูกเพื่อเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันร่วมกัน ไม่ปล่อยให้มือถือหรือหน้าจอเกมเลี้ยงลูกแทน จะส่งผลดีกับชีวิตลูกทั้งระยะสั้นและยาวต่อไปด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ที่มา กรมอนามัย
ภาพ แฟ้มภาพ

แก้ไขล่าสุด : 21 ก.ย. 2561, เวลา 06:55



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่