ทำงานเป็นกะเสี่ยงโรคหัวใจ

โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ เผยผู้ที่ทำงานเป็นกะอาจมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถึงร้อยละ 40 โรคกระเพาะอาหารมากกว่า 2.5 เท่าของคนปกติ และพบความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมของผู้หญิงถึงร้อยละ 30 นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุ

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การดำเนินชีวิตด้านการทำงานของบุคคลทั่วไปมีช่วงเวลาทำงานระหว่าง7โมงเช้า ถึง6โมงเย็น แต่ยังมีกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานเป็นกะ นอกเหนือจากเวลาปกติดังกล่าว อาทิ ตำรวจ บุคลากรทางการแพทย์ และคนงานในโรงงานที่มีการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง ฯลฯ จากการศึกษาพบว่าการทำงานของร่างกายมนุษย์ เช่น อุณหภูมิร่างกาย การผลิตฮอร์โมน การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การทำงานของกระเพาะอาหารเป็นแบบ 24 ชั่วโมง โดยวงรอบการทำงานต่างๆ จะประสานสอดคล้องกัน โดยมีสมอง ปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวควบคุม ดังนั้นเมื่อต้องทำงานเป็นกะ ร่างกายจะมีการปรับวงจรการนอนให้สอดคล้องกับกะที่ทำงาน แต่วงจรอื่นๆ จะต้องใช้เวลาในการปรับ ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ผลกระทบที่ตามมาคือ นอนไม่เพียงพอ ทำให้อ่อนล้า สูญเสียสมาธิ และการตัดสินใจช้าลง นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของความผิดพลาด และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต


นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลกระทบด้านสุขภาพนั้นมี 2 ระยะคือ ผลระยะสั้น ผู้ที่ต้องทำงานกะดึกจะได้รับผลกระทบทันทีในคืนแรก ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ (ปริมาณชั่วโมงการนอน) และคุณภาพของการนอน (หลับไม่สนิท) ผลที่ตามมาคือความอ่อนล้า เครียด ประสิทธิภาพการตัดสินใจลดลง สำหรับผลระยะยาวจะมีอาการเครียดจากการนอนหลับไม่เพียงพอ มักเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพต่างๆ ในระยะยาว ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถึงร้อยละ 40 โรคกระเพาะอาหารมากกว่า 2.5 เท่าของคนปกติ โรคมะเร็งเต้านมของผู้หญิงถึงร้อยละ 30 โรคระบบทางเดินอาหาร โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคจิตประสาท กังวล ซึมเศร้า ปัญหาครอบครัวและสังคม สำหรับในผู้หญิงอาจมีผลต่อระบบฮอร์โมนและระบบสืบพันธุ์ทำให้มีบุตรยาก คลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ง่าย สำหรับข้อแนะนำของผู้ที่ทำงานเป็นกะได้แก่ 1. การนอน พยายามนอนช่วงเย็นให้ได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ใช้เครื่องป้องกันเสียงเพื่อตัดเสียงรบกวน งดชา กาแฟ หรือสารกระตุ้นประสาทก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง 2. การรับประทานอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักในช่วงหลังเที่ยงคืน ให้ทานอาหารเบาๆ แต่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร ซึ่งนมจัดได้ว่าเป็นอาหารที่เหมาะที่สุด เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง ย่อยง่ายและเป็นสารเคลือบกระเพาะ 3. การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายหลังตื่นนอนจะช่วยเพิ่มอุณหภูมิในร่างกายทำให้สดชื่นและกระฉับกระเฉง หากสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำจะทำให้สุขภาพแข็งแรงและพร้อมที่จะทำงานเป็นกะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา เว็บไซต์ สสส.
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 2 ก.ย. 2561, เวลา 14:52



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่