นมฟลูออไรด์” ช่วยป้องกันฟันผุ

ทันตแพทย์ห่วง ปชช.เข้าใจผิด “นมฟลูออไรด์” ทำฟันตกกระ แจงช่วยป้องกันเด็กฟันผุได้ 33-77% แต่ต้องบริหารจัดการดี มีประสิทธิภาพ ระบบขนส่งมีคุณภาพ เผยให้นมฟลูออไรด์เฉพาะพื้นที่ ตามเกณฑ์ความชุกโรคฟันผุ ระดับฟลูออไรด์น้ำดื่ม

จากกรณีคณะกรรมการโคมนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) มีมติชะลอการรับซื้อนมผสมฟลูออไรด์จากโรงงาน 19 แห่ง เพื่อส่งให้เด็กในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หลังพบว่ามีนมผสมฟลูออไรด์ส่งออกไปนอกพื้นที่ 12 จังหวัด และนักเรียนดื่มแล้วมีปัญหาฟันตกกระ จากการรับฟลูออไรด์มากจนเกินไป โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สั่งยุติการผลิตไปแล้วนั้น

รศ.ทพ.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ ประธานราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ข่าวนี้อาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน ว่า นมผสมฟลูออไรด์ทำให้ฟันตกกระ ทั้งนี้ การให้นมผสมฟลูออไรด์ของไทยดำเนินการในเด็กอายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความปลอดภัยสูง แต่ประเด็นที่ต้องดูแลอย่างเข้มงวด คือ การบริหารจัดการต้องมีคุณภาพ เพื่อให้เด็กได้รับนมอย่างเหมาะสม การเติมฟลูออไรด์ในนมเป็นมาตรการทางชุมชนที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพื่อป้องกันฟันผุในเด็ก โดยกำหนดเกณฑ์ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน สำหรับประเทศไทยได้มีข้อสรุปทางวิชาการของวิชาชีพในปี 2560 ว่า ให้พิจารณาตามความชุกของโรคฟันผุ, ระดับฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม พร้อมให้มีการเฝ้าระวังการได้รับฟลูออไรด์ของเด็ก ที่สำคัญ ต้องมีระบบการจัดส่งนมฟลูออไรด์ที่มีคุณภาพ

รศ.ทพ.พรชัย กล่าวว่า นมฟลูออไรด์ คือ การเติมฟลูออไรด์เข้าไปในนมสด มีสี กลิ่น และรสชาติ เหมือนนมทั่วไป วิธีนี้จะทำให้เด็กได้รับฟลูออไรด์เสริมอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน และคุ้มทุน ซึ่งจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กไทยที่ได้รับนมที่โรงเรียนทุกวัน การใส่ฟลูออไรด์ในนมในปริมาณที่เหมาะสม คือ 0.5 มิลลิกรัมต่อ 1 ถุง สามารถลดโรคฟันผุได้ร้อยละ 33-77 นอกจากนี้ ยังพบว่า หลังการดื่มนมฟลูออไรด์จะพบปริมาณฟลูออไรด์คงอยู่ในช่องปากตลอดเวลาร้อยละ 55-60 และพบด้วยว่า มี ฟลูออไรด์สะสมในแผ่นคราบจุลินทรีย์สูงขึ้น หลังได้รับนมนานถึง 8 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยเสริมกระบวนการคืนกลับของแร่ธาตุบนตัวฟัน ทำให้ฟันเพิ่มความแข็งแรง เพราะได้รับแร่ธาตุฟลูออไรด์ไปสู่ผิวฟันด้วย

รศ.ทพ.พรชัย กล่าวว่า ทันตแพทย์คำนึงถึงวิชาการและความปลอดภัยของเด็กเป็นหลัก และเห็นว่า โรคฟันผุเป็นปัญหาสำคัญในเด็กไทย ซึ่งไม่ได้ส่งผลเฉพาะช่องปากเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการเจริญเติบโตของเด็กด้วย การป้องกันจึงเป็นวิธีที่คุ้มค่าทั้งในแง่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่การป้องกันโดยให้ผู้ปกครองดูแลเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่เพียงพอ รัฐจึงควรเลือกมาตรการทางชุมชนที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้การบริหารจัดการเรื่องนมฟลูออไรด์ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อไม่ให้มีนมฟลูออไรด์หลุดออกนอกพื้นที่

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
ภาพ แฟ้มภาพ

แก้ไขล่าสุด : 9 ก.ค. 2561, เวลา 08:45



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่