ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์ของความอิจฉา ที่มีทั้งเชิงสร้างสรรและทำลาย

#เศรษฐศาสตร์ของความอิจฉา

สมัยเรียนปริญญาเอกเมื่อหลายปีหรือหลายทศวรรษมาแล้ว มีอาจารย์ชาวออสเตรเลียนเชื้อสายเวียตนามท่านหนึ่งพูดถึงสาขาย่อยสาขาหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์ ที่แปลเป็นไทยได้ว่า เศรษฐศาสตร์ของความอิจฉา ผมก็ได้แต่ทึ่งในหัวข้อที่แหวกแนวและเก็บเรื่องนี้ไว้ในความทรงจำมาโดยตลอด โดยไม่ได้ผลิตผลงานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้แม้แต่ชิ้นเดียว

ผ่านไปสามสิบกว่าปีจึงมีโอกาสได้คิดและเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับประเด็นนี้จริงจัง จากประสบการณ์จริง ในด้านความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ในแง่มุมของความไม่เท่าเทียมระหว่างบุคคลหรือแม้แต่ระหว่างชนชั้น โดยนำแนวคิดใหม่ที่เรียกว่าความไม่เท่าเทียมข้ามกลุ่มย่อยในสังคม (Inequality across subgroups) มาใช้ในการแยกวิเคราะห์ดัชนีจีนีแบบใหม่ (ซึ่งผมขอข้ามไปไม่ลงรายละเอียดในที่นี้นะครับ)

ในเชิงกรอบแนวคิด ความอิจฉามีทั้งจากบนลงล่าง และจากล่างขึ้นบน ความอิจฉามีทั้งเชิงบวกที่สร้างสรร และเชิงลบที่ทำลาย

ความอิจฉาจากล่างสู่บนนั้น เกิดขึ้นเมื่อคนหรือกลุ่มคนที่ด้อยกว่าอิจฉาคนหรือกลุ่มคนที่เหนือ เพราะคนเหล่านั้นมีมากกว่าหรือมีในสิ่งที่ตนเองไม่มี ในขณะที่ความอิจฉาจากบนสู่ล่างนั้นเกิดขึ้นในทิศทางตรงกันข้ามคือคนหรือกลุ่มคนที่เหนือกว่าอิจฉาคนหรือกลุ่มคนที่ด้อยกว่า ที่กำลังจะมีมากขึ้นหรือกำลังจะมีโอกาสที่ดีขึ้น

ความอิจฉาที่สร้างสรรคือความอิจฉาเชิงบวก เป็นความชื่นชมเมื่อเห็นคน ๆ หนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งทำอะไรหรือมีอะไร ก็อยากมีอย่างที่คนหรือคนกลุ่มนั้นทำหรือมีบ้าง พยายามเรียนรู้ เลียนแบบ (ซึ่งต่างจากการโขมยผลงาน) พยายามทำเพื่อที่จะให้มีเหมือนกัน เป็นความอิจฉาที่สร้างสรรและจรรโลงโลกให้ดีขึ้น น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ในขณะที่ความอิจฉาเชิงลบที่ทำลายนั้น จะพยายามทุกทางรวมทั้งทำลายโอกาส ที่จะทำให้คนหรือคนกลุ่มอื่นไม่ได้มีอย่างที่ควรจะเป็น หรือทำลายสิ่งที่คนหรือคนกลุ่มอื่นมีอยู่แล้วให้เสียหายหรือหมดไป เป็นความอิจฉาที่ไม่ได้ทำให้ใครดีขึ้น

ความอิจฉาเชิงลบที่ทำลาย เป็นความอิจฉาที่สร้างความขัดแย้งและความรุนแรงในทุกที่ ในชุมชน ในที่ทำงาน ในประเทศชาติ อาจเป็นกรณีที่คนหรือกลุ่มคนที่เหนือกว่าอิจฉาคนหรือกลุ่มคนที่ด้อยกว่า ที่กำลังจะมีโอกาส มีชีวิตที่ดีขั้น มีสถานะทางสังคมที่ดีกว่าเดิม หรืออาจเป็นกรณีที่คนหรือกลุ่มคนที่ด้อยกว่าไม่พอใจที่คนอื่นหรือกลุ่มคนอื่นมีมากกว่าหรือเหนือกว่าตน ไม่ว่าจะผ่านการทำงานหรือมรดกตกทอดจากบิดามารดา

ความอิจฉาเชิงลบจะมีผลทำลายล้างรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดขึ้นสองทาง จากบนลงล่าง เมื่อผู้ที่อยู่เหนือกว่ายอมไม่ได้ที่ผู้ที่ด้อยกว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องกดไว้ และจากล่างขึ้นบน เมื่อผู้ที่ด้อยกว่ารับไม่ได้ที่มีผู้ที่มีมากกว่าตน ต้องการจะดึงผู้ที่มากกว่า เหนือกว่าลงมาให้เหมือนตน

ผมเคยมีประสบการณ์พบเห็นความอิจฉาทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เชิงบวกหรือความชื่นชมเกิดขึ้นหลายวาระ เมื่อมีผู้ใหญ่สองสามท่านคุยนอกรอบกับผมว่าจะขัดข้องไหมถ้าจะนำแนวคิดร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกองทุนซะกาตไปใช้กับศาสนาอื่น ซึ่งแน่นอน ผมตอบว่าไม่ขัดข้องและดีใจด้วย เชิงลบหรือการทำลายเกิดขึ้นในการอภิปรายของสภาหนึ่ง ว่ารับไม่ได้กับร่าง พรบ.นี้ เพราะจะมีหนึ่งศาสนาที่ได้ประโยชน์มากกว่าศาสนาอื่น ผลสุดท้ายคือไม่มีศาสนาใดไ้ด้อะไรเลย

เพื่อน ๆ ลองคิดทบทวนประสบการณ์ตนเองดูสิครับ ว่าเคยพบเห็นความอิจฉาแบบไหนในที่ใดบ้าง แล้วนำมาแลกเปลี่ยน เล่าสู่กันฟัง

ป.ล. ตามที่เพื่อน ๆ ถามมา อ่านฉบับเต็มได้ที่

Income inequality and conflicts: a new Gini decomposition analysis. Economics of Peace and Security Journal 15(2): 66-82.

โดย : ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์

ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)


แก้ไขล่าสุด : 21 พ.ย. 2566, เวลา 11:32



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่