สารตกค้างในลำใยแห้ง

การอบแห้ง เป็นการถนอมอาหารที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ในฤดูที่มีผลผลิตออกมาปริมาณมากๆ เกินจะขายหรือทานผลสดได้หมด

การอบแห้งจะช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสัมผัส สี กลิ่น และรสของอาหาร ส่งผลให้อาหารมีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น แถมยังคงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไว้ได้ หรือเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เช่น ลำไยอบแห้ง เมื่อนำผลสดมาอบให้แห้งสนิท สามารถส่งขายทั้งในและต่างประเทศได้เป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างจีนที่นิยมซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝากขึ้นชื่อของไทย


การผลิตมากๆตามคำสั่งซื้อ ผู้ผลิตมีความจำเป็นต้องกว้านซื้อลำไยสดจากหลายแหล่งมาอบ บางครั้งอาจไม่ได้สำรวจข้อมูลการเพาะปลูกของแต่ละสวน รวมถึงระยะห่างของการใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีต่างๆ ก่อนการเก็บเกี่ยว ทำให้อาจมียาฆ่าแมลง หรือยาป้องกันกำจัดเชื้อราตกค้างอยู่ในลำไยผลสดได้

เมื่อนำมาอบแห้ง สารดังกล่าวก็ยังคงตกค้างอยู่ในผลลำไย เมื่อผู้บริโภคทานเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอันตรายได้ อันตรายที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อระบบร่างกายเกือบทุกส่วน ทั้งระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร

วันนี้ สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างลำไยอบแห้ง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 2 ย่านการค้า และจาก 2 ยี่ห้อ เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงและสารกำจัดเชื้อราตกค้าง ผลปรากฏว่า พบยาฆ่าแมลงชนิด คลอไพริฟอสเอทิล ปนเปื้อนในลำไยอบแห้ง ทั้ง 5 ตัวอย่าง และพบสารกำจัดเชื้อรา คาร์เบนดาซิม และ เมทาแลกซิล ปนเปื้อนในลำไยอบแห้งจำนวน 1 ตัวอย่าง แม้ปริมาณที่พบมีปริมาณน้อยมาก และยังไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 387 พ.ศ.2560 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง แต่เพื่อความมั่นใจ ก่อนทานหรือนำไปต้มเป็นน้ำลำไย หรือนำไปประกอบอาหาร ก็ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำไหลผ่านหลายๆ ครั้งจะดีกว่า.

ที่มา ไทยรัฐ
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 19 พ.ย. 2561, เวลา 07:14



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่