โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน  

โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน   เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่คนทั่วไปมักไม่รู้จัก และหลายรายที่เป็นถึงขั้นต้องตัดเท้าไป ก็ยังไม่รู้ ดังนั้น เราจึงควรมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันไว้บ้างก็น่าจะเป็นการดี

โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน   เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่คนทั่วไปมักไม่รู้จัก และหลายรายที่เป็นถึงขั้นต้องตัดเท้าไป ก็ยังไม่รู้ ดังนั้น เราจึงควรมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันไว้บ้างก็น่าจะเป็นการดี

โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน  มีชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Peripheral vascular disease (PVD) แปลว่า โรคเส้นเลือดส่วนปลายอุดตัน ซึ่งคำว่า vascular หมายถึงทั้งเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ แต่ความจริงแล้ว โรคนี้ กลับหมายถึงเพียงเส้นเลือดแดงอย่างเดียว ดังนั้น ปัจจุบันจึงนิยมใช้คำว่า Peripheral arterial disease (PAD) ซึ่งหมายถึงโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตันนั่นเอง เพราะส่วนมากถ้าเป็นเส้นเลือด ดำอุดตันมักจะเกิดจากลิ่มเลือด เราจะเรียกว่า deep venous thrombosis (DVT) มากกว่า

เส้นเลือดแดง อุดตัน จะมีอาการต่างจากเส้นเลือดดำอุดตันไปคนละทางกันเลย โรคทั้งสอง มีอันตรายทั้งคู่แต่ต่างกันไป โรคเส้นเลือดดำอุดตัน มักจะเกิดจาก การที่อยู่เฉยๆเป็นเวลานานๆ เช่น นอนนานหลังผ่าตัด นั่งนานๆในรถทัวร์ หรือในเครื่องบิน เป็นต้น  เลือดในเส้นเลือดดำจะตกตะกอนจับกันเป็นก้อน ลิ่มเลือดและอุดตัน ทำให้เลือดไปต่อไม่ได้ เลือดจึงค้างอยู่ตามปลายๆของขามาก เมื่อเลือดค้างอยู่มาก ก็จะเกิดแรงดันมาก ทำให้ส่วนที่เป็นน้ำซึมออกมานอกเส้นเลือด ไปอยู่ตามเนื้อเยื่อรอบๆ ดังนั้น อาการที่พบได้เป็นประจำสำหรับเส้นเลือดดำอุดตันคือ อาการขาบวมกดบุ๋ม คือ ถ้าเอานิ้วมือกดจะเป็นรอยบุ๋มลงไป  ถ้าบวมมาก ก็จะขึ้นไปถึงใต้เข่า ถ้าบวมน้อยๆ ก็อาจจะอยู่แค่หลังเท้า  อาการของน้ำเกินในร่างกายจากหัวใจวายหรือตับวาย หรือไตวาย  ก็จะเกิดบวมกดบุ๋มด้วยเช่นกัน โดยที่ไม่ได้มีการอุดตันของเส้นเลือดดำ เลือดยังวิ่งได้อยู่ แต่ในความเร็วที่ช้าลงมาก เหมือนกับจราจรบ้านเรา ดังนั้น น้ำที่อยู่ตามส่วนปลายจึงไหลออกข้างนอกเส้นเลือด ไปอยู่ตามเซลล์ต่างๆ(ซึ่งก็เหมือนกับจราจรบ้านเราที่เวลารถติดมากๆ คนส่วนหนึ่งจะจอดรถแวะนอน หรือกินกาแฟตามโรงแรม หรือร้านอาหารกันก่อน)

แต่ในเส้นเลือดแดงอุดตันนั้น จะมีลักษณะต่างออกไป เส้นเลือดแดงที่อุดตัน มักไม่ได้เกิดจากก้อนเลือด หรือลิ่มเลือดไปอุด แต่เกิดจาก การมีขยะหรือตะกอน ไปติดอยู่ตามผนังด้านในของเส้นเลือดแดง เหมือนกับไขมันที่พอกอยู่ในท่อน้ำทิ้ง ทำให้ท่อเล็กลง และเมื่อเล็กลงมากๆ ก็จะทำให้เส้นเลือดนั้นตีบแคบ และอุดตันได้ในที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก ไขมัน ที่พอกผนังด้านในของเส้นเลือด จนทำให้เส้นเลือดตีบแคบลง และ เกิดจากเบาหวาน ที่คุมไม่ดี ทำให้น้ำตาลไปเกาะตามผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้เส้นเลือด เปราะ กรอบ และตีบแคบลง

เมื่อมีเส้นเลือดแดงตีบแคบลง ทำให้เลือดวิ่งไปปลายเท้าไม่ได้ หรือวิ่งได้น้อยลง เลือดไปเลี้ยงปลายเท้าก็น้อยลงด้วย นั้น ตัวปลายเท้าก็จะเย็น ขนที่ขาก็จะพากันร่วงหมด ผิวหนังก็จะบางลง เป็นมันๆ ขาจะลีบลง เวลาอยู่เฉยๆไม่เป็นอะไร แต่เวลาเดินจะปวดมาก ยิ่งเดินนานๆยิ่งปวดมากขึ้น เนื่องจากเวลาอยู่เฉยๆไม่ขยับขา ก็ต้องการพลังงานน้อยหน่อย เลือดที่มาเลี้ยง แม้จะน้อยก็ยังเพียงพออยู่  จึงไม่รู้สึกอะไร แต่เมื่อเดินหรือวิ่ง ขาต้องทำงานหนักขึ้น ต้องการ ออกซิเจนมากขึ้น แต่เส้นเลือดตีบทำให้เลือดมาเลี้ยงได้ไม่เพิ่มขึ้น เกิดอาการขาดเลือด เนื้อเยื่อจึงส่งสัญญาณ ออกมาเป็นความเจ็บปวด เพื่อให้เราหยุดเดินนั่นเอง

การวินิจฉัยเส้นเลือดอุดตัน ทำเมื่อมีผู้ป่วยมาหาด้วยเรื่อง เดินแล้วปวดขาบริเวณน่องเป็นหลักโดยไม่มีอะไรเกี่ยวกับข้อเข่าหรือข้อเท้ามาก่อนเลย หรืออาจจะมาด้วยแผลเรื้อรังที่เท้า รักษาเท่าไรไม่ยอมหายหรือลามมากขึ้น เช่นในผู้ป่วยเบาหวานเป็นต้น  เมื่อแพทย์สงสัยก็จะส่งไปทำ ABI ซึ่งเป็นการวัดสัดส่วนว่า เลือดไปเลี้ยงที่ขาหรือแขนมากกว่ากัน โดยปกติแล้ว เลือดจะไปเลี้ยงที่ขามากกว่าแขนเสมอ เนื่องจากขาใหญ่กว่าแขน เส้นเลือดจึงใหญ่กว่ามีเลือดปริมาณมากกว่า แต่เมื่อใดก็ตาม เลือดไปเลี้ยงแขนมากกว่าขา แสดงว่าผิดปกติ จึงต้องหาสาเหตุกันต่อไป โดยการทำ angiogram หรือการฉีดสีเข้าเส้นเลือดแดง เพื่อดูเส้นเลือดแดงว่า มีการตีบตันที่ตำแหน่งไหน และมากน้อยเพียงใด

การรักษา ถ้าเป็นน้อยๆ ใช้การรักษาแบบประคับประคอง โดยให้ยาขยายเส้นเลือดแดง และรักษาสาเหตุ ด้วยการลดไขมัน หรือคุมเบาหวานให้ดีๆ  ออกกำลังกายมากๆ เพื่อให้เลือดวิ่งเร็วๆบ่อยๆ จะทำให้เส้นเลือดกว้างขึ้นได้ หรืออย่างน้อยไม่ตีบแคบลงกว่าเดิม  แต่ถ้ารักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล ก็จะต้องช่วยด้วยการผ่าตัด ทำบายพาส หรือการใส่เส้นเลือดแดงเทียม ต่อเอาเลือดจากเส้นเลือดแดงในช่องท้อง ให้ผ่านบริเวณเส้นเลือดอุดตันที่ขา ไปยังเส้นเลือดขาที่ยังเปิดอยู่ ก็สามารถจะเพิ่มเลือดให้มาเลี้ยงขาได้มากขึ้น  ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ก็ยังตัองรักษาแบบประคับประคองต่อไปเสมอ เพื่อไม่ให้กลับมากตีบแคบอีก วัสลาม ฯ

เรื่องโดย นพ.กษิดิษ ศรีสง่า

สุขสาระ มกราคม 2560

Tags : all โรค พบหมอ

แก้ไขล่าสุด : 6 ก.พ. 2562, เวลา 17:49


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่