ผักเชียงดา

ผักเชียงดา ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gymnema inodorum (Lour.) Decne. เป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่งที่ปลูกตามท้องถิ่นทางภาคเหนือ โดยปลูกเป็นพืชผักสวนครัว เพราะดอกและยอดอ่อนสามารถทำเป็นอาหารได้

-“ผักเชียงดา”สมุนไพรลดน้ำตาล

ผักเชียงดา ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gymnema inodorum (Lour.) Decne. เป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่งที่ปลูกตามท้องถิ่นทางภาคเหนือ มีชื่อภาษาท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เจียงดา, ผักเจียงดา, ผักเซียงดา, ผักกูด, ผักจินดา, ผักเซ่งดา, ผักม้วนไก่, ผักเซ็ง, ผักว้น, ผักฮ่อนไก่, ผักอีฮ่วน, เครือจันปา ฯลฯ ปลูกมากในจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในโครงการ “อนุรักษ์พันธุกรรมพืช” ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยปลูกเป็นพืชผักสวนครัว เพราะดอกและยอดอ่อนสามารถทำเป็นอาหารได้ โดยพันธุ์ที่โตในป่าจะมีรสขมกว่า ใบใหญ่กว่า และสีของใบจะอ่อนกว่าพันธุ์ที่ปลูกตามบ้าน หากลองเด็ด ใบแก่มาเคี้ยวกินแล้วกินน้ำตาลทรายตาม จะรู้สึกว่าน้ำตาลไม่มีรสหวาน และรสของมันจะติดลิ้นค่อนข้างนาน ทำให้คนที่เคี้ยวไม่อยากทานอาหารแต่ถ้าเอามาผัดหรือเอามาแกงรวมกับผักอื่น ๆ โดยคุณสมบัติของผักเชียงดาจะทำให้รสชาติของผักอื่น ๆ อร่อยขึ้น

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้เถาเลื้อยยาว เถาสีเขียว ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวเหมือนน้ำนม ใบเดี่ยว รูปกลมรี ท้องใบเขียวแก่กว่าหลังใบ ใบออกตรงข้อเป็นคู่ๆ ดอกออกเป็นกระจุกแน่นสีขาวอมเขียว ดอกย่อยขนาดเล็ก ผลเป็นฝักคู่ ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรนำผักเชียงดามาปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่เพื่อเก็บยอดขายเป็นเชิงการค้า เช่น จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และจันทบุรี สามารถพบผักเชียงดาขายอยู่ที่ตลาดในตัวเมืองเชียงใหม่

ประเทศอินเดียตอนกลางและตอนใต้ รวมถึงประเทศศรีลังกา ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วน นอกจากนี้ยังเป็นผักที่หมอยาพื้นบ้านใช้เป็นผักเพิ่มกำลังในการทำงานหนักและใช้เป็นยารักษาเบาหวานเช่นเดียวกับอินเดียและประเทศแถบเอเชีย

ผักเชียงดาสามารถนำไปใช้ลดน้ำหนัก เพราะว่าผักเชียงดาช่วยให้มีการนำน้ำตาลไปเผาผลาญมากกว่าการนำไปสร้างเป็นไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ช่วยปรับระดับอินซูลินในร่างกายให้สมดุล ช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่ให้ตับอ่อน ด้วยการนำผักเชียงดามาปรุงเป็นอาหารรับประทานประมาณวันละ 8-12 กรัม โดยเฉลี่ย 3 มื้อ สามารถควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานให้เป็นปกติได้หรือจะรับประทานเป็นผักสดอย่างน้อยวันละประมาณ 50-100 กรัม ยังสามารถช่วยป้องกันและบำบัดโรคเบาหวานได้อีกด้วย

ผลงานวิจัยทางเภสัชวิทยาพบว่าผักเชียงดามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยให้ผู้ที่มีสุขภาพดีทดลองดื่มชาผักเชียงดาภายใน 15นาทีหลังจากได้รับสารละลายกลูโคส พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจากตอนที่ยังไม่ได้ดื่มชาผักเชียงดา และที่น่าสนใจคือผักเชียงดามีวิตามินซีสูงและมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดในจำนวนผักพื้นบ้านของเชียงใหม่จำนวน 43 ชนิด เช่น เบต้าแคโรทีน ซึ่งสารดังกล่าวช่วยบำรุงสายตา ควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ เป็นสารต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น กำจัดอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งตับ มะเร็งในกระเพาะอาหาร โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยนั้นเอง

หมอยาพื้นบ้านของเชียงใหม่ ใช้ลดไข้ แก้ท้องผูก แก้แพ้ ช่วยให้ผ่อนคลายจากความเมื่อยล้า ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี หรือใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ขณะที่กลุ่มหมอกลางบ้านไทยใหญ่มีตำราระบุถึงผักเชียงดาว่าเป็น “ยาแก้หลวง ใช้เป็นยาแก้ได้หลายอาการมีสรรพคุณคล้ายฟ้าทะลายโจร คือแก้ไข้ แก้แพ้ แก้เบาหวาน หน้าแล้งจะขุดรากมาทำยา หน้าฝนจะใช้เถาและใบ โดยสับตากแห้งบดชงเป็นชาดื่ม ใช้แก้แพ้ กินของผิด ฉีดยาผิด เวียนศีรษะ แก้ไข้สันนิบาต หรือเมื่อเกิดอาการคิดมาก มีอาการจิตฟั่นเฟือน

ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับสารสเตียรอยด์ชนิดคอร์ติโคจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและควบคุมไม่ได้ อันเนื่องมาจากสารสเตียรอยด์ดังกล่าวไปกระตุ้นการสร้างกลูโคสในกระแสเลือด อย่างไรก็ดีผลงานวิจัยชี้ว่าสารสกัดของใบผักเชียงดาส่งผลให้มีการปรับปรุงภาวะระดับน้ำตาลในเลือด โดยไปยับยั้งฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างโมเลกุลกลูโคสในตับ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และยังระบุว่าผักเชียงดาจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากทำงานร่วมกับรากของพืชพื้นเมืองของอินเดียที่ชื่อ Inula racemosa

นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัย Nippon Veterinary and Animal Science ของประเทศญี่ปุ่นได้ใช้เทคโนโลยีจำลองสูตรโครงสร้างของสารออกฤทธิ์ตามธรรมชาติในใบผักเชียงดา และทดลองใช้สารดังกล่าวกับสัตว์ทดลอง พบว่าสามารถลดปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดลงได้ ในท้ายที่สุดประเทศญี่ปุ่นนำผักพื้นบ้านชนิดนี้ของเราไปจดสิทธิบัตรในการผลิตชาผักเชียงดาเพื่อใช้ดื่มบำรุงสุขภาพและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน

9 สรรพคุณทางสมุนไพรของผักเชียงดา

  1. ช่วยลดน้ำตาลในผู้ที่เป็นเบาหวาน โดยใช้ยอดอ่อนหรือใบอ่อนของผักเชียงดามาต้มน้ำดื่มวันละ 2-3 แก้ว ติดต่อกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะกลับมาเป็นปกติได้
  2. มีสรรพคุณในการแก้ไข้ แก้แพ้ แก้หวัด โดยนำใบสดของผักเชียงดามาตำจนละเอียดแล้วใช้พอกบริเวณกระหม่อม
  3. ใช้รักษาอาการท้องผูก แก้โรคริดสีดวงทวาร ทำให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น โดยชาวบ้านจะนำผักเชียงดามาแกงกับผักตำลึงและยอดชะเอม
  4. มีฤทธิ์ช่วยควบคุมการทำงานภายในร่างกาย ให้เป็นไปอย่างปกติ โดยเฉพาะการกินผักเชียงดาในช่วงหน้าร้อนจะช่วยระบายความร้อนในร่างกายได้ดี
  5. ช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย รวมถึงไขมันส่วนเกินที่สะสมอยู่ในลำไส้ โดยจะควบคุมปริมาณของไขมันในร่างกายให้มีความสมดุล
  6. ช่วยฟื้นฟูและบำรุงตับอ่อนให้แข็งแรง ทำให้การทำงานของตับอ่อนเป็นไปอย่างปกติ
  7. สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากผักเชียงดามีฤทธิ์ทำให้มีการนำน้ำตาลไปเผาผลาญมากกว่าการนำไปสร้างไขมัน จึงไม่มีไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง
  8. บรรเทาอาการปวดข้อหรือปวดกระดูกจากโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก
  9. ช่วยบรรเทาอาการป่วยจากโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด จากสรรพคุณทางยาของผักเชียงดาในข้างต้นนี้ ปัจจุบันจึงได้มีการนำมาผลิตเป็นยาในรูปแบบของยาแคปซูล เพราะคุณสมบัติของผักเชียงดานั้นยังสามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้อีกสารพัดโรค เช่น แก้ปวดหัว ทำให้เจริญอาหาร ลดไข้ ขับเสมหะ ช่วยระงับประสาท ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การนำสมุนไพรมาใช้เพื่อรักษาอาการต่างๆ ควรคำนึงอยู่เสมอว่าสมุนไพรบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย หากคิดจะใช้สมุนไพรควบคู่กับการรักษา ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรก่อนจะดีที่สุด

สุขสาระ กันยายน 2517

 

Tags : all สมุนไพร อาหาร

แก้ไขล่าสุด : 15 ธ.ค. 2562, เวลา 23:20


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่