"แว่นแก้ว"  จากวัชพืช  เป็นผัก / เป็นไม้ประดับ

"แว่นแก้ว" เป็นไม้น้ำมีอายุหลายฤดู มีลักษณะคล้ายบัวบก มีอายุยืนยาวหลายปี มีประโยชน์สามารถนำมาบริโภคเป็นผัก ปลูกเป็นไม้กระถางเพื่อความสวยงาม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และแยกต้นอ่อน

แว่นแก้ว

แว่นแก้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrocotyle umbellata L. จัดอยู่ในวงศ์ APIACEAE หรือวงศ์ UMBELLIFERAE เช่นเดียวกับแครอท ขึ้นฉ่าย ผักชีฝรั่ง ผักชีล้อม ผักชีลาว บัวบก และตังกุย แว่นแก้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า บัวแก้ว ผักหนอก ผักหนอกใหญ่ ผักหนอกเทศ เป็นต้น

มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ต่อมาได้แพร่กระจายไปทั่วในประเทศเขตร้อนในประเทศไทย พบได้มากทางภาคเหนือและภาคกลาง เป็นไม้น้ำมีอายุหลายฤดู มีลักษณะคล้ายบัวบก มีอายุยืนยาวหลายปี ลำต้นเป็นไหลกลมยาวเรียว มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นและแตกรากและใบตามข้อ เจริญเติบโตได้เร็วและชอบแสงแดด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการแยกต้นอ่อน 

ใบเป็นใบเดี่ยว แตกออกสลับข้อละ 1–2 ใบ ก้านใบอวบ ยาว 10 –15 ซม. ใบรูปเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–10 ซม. ขอบใบหยักโค้งกว้าง ดอกเป็นดอกช่อแบบอัมเบล เกิดที่ซอกใบมีก้านช่อดอกยาว ดอกมีขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ ผลชนิดแห้งแล้วแตกออกเป็น 2 ซีก เมล็ดมีขนาดเล็ก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และแยกต้นอ่อน

ปัจจุบันได้มีการศึกษาถึงการเติบโต และการแก่งแย่งแข่งขันของแว่นแก้วเปรียบเทียบกับ Centella asiatica ที่เป็นพืชพื้นเมือง ซึ่งแว่นแก้วสามารถโตได้ดีไม่เพียงในสภาวะที่อยู่ในน้ำเท่านั้น แต่รวมถึงในสภาวะแห้งแล้งอีกด้วย พืชชนิดนี้สร้างหน่อใหม่จากต้นและใบอ่อน ถ้าส่วนของลำต้นถูกตัดออกจากต้นเดิมส่วนที่ถูกตัดออกก็จะผลิตราก และสามารถอยู่รอดได้ในน้ำ โดยแตกกิ่งใหม่ออกมาจากตาระหว่างลำต้นและก้านใบ ผลจากการศึกษาการเติบโตของแว่นแก้ว จากต้นที่มีเพียงหนึ่งใบ สามารถเจริญเติบโตได้ถึง 174 ใบ ภายใน 141 วัน และพืชชนิดนี้สามารถเติบโตได้ดีกว่า  C. asiatica และพืชในวงศ์เดียวกัน และในพื้นที่ที่มีความชื้น และสารอาหารแตกต่างกัน (สูงและต่ำ) แว่นแก้วก็สามารถเติบโตได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น ในสภาวะแห้งแล้งสามารถผลิตเมล็ดได้แต่ไม่พบการเจริญเติบโตจากเมล็ด (ในการทดลอง)

พบพืชชนิดนี้ตามบึง บ่อ และคูน้ำข้างทางในหลายจังหวัด และยังพบได้ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูงอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแก่งแย่งได้ดีเหนือพืชพื้นเมืองอื่นๆ และดูเหมือนว่าประเทศไทยจะไม่มีศัตรูตามธรรมชาติที่ส่งผลต่อแว่นแก้ว จากปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้แว่นแก้วมีแนวโน้มที่จะเป็นวัชพืชในอนาคตอันใกล้ นี้ 

สรรพคุณผักแว่นแก้ว

  1. แว่นแก้วมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษไข้ (ทั้งต้น)
  2. ใบนำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการช้ำในได้ (ใบ,ทั้งต้น)
  3. ทั้งต้นแว่นแก้ว สรรพคุณใช้แก้อาการตาแดง (ทั้งต้น)
  4. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ทั้งต้น)
  5. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ทั้งต้น)
  6. ช่วยในการขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)
  7. ใช้เป็นยาแก้บวม (ทั้งต้น)

ประโยชน์ผักแว่นแก้ว

  1. นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในตู้ปลา อ่างปลา ปลูกเป็นไม้กระถางเพื่อให้ความสวยงาม และยังดูแลรักษาง่ายอีกด้วย
  2. ใบหรือผักแว่นแก้ว สามารถนำมารับประทานได้ โดยใช้รับประทานเป็นผัก ใช้เป็นผักจิ้มเครื่องหลน ใช้เป็นเครื่องเคียง หรือนำไปแกง หรือใช้รับประทานกับลาบแบบสด ๆ หรือนำไปคั้นทำเป็นน้ำดื่ม

สุขสาระ  มีนาคม 2560

Tags : all สมุนไพร อาหาร

แก้ไขล่าสุด : 2 ก.พ. 2562, เวลา 23:36


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่