Clubfoot โรคเท้าปุก

คนปกติจะเดินโดยการใช้ฝ่าเท้าสองข้างเหยียบลงไปบนพื้น แต่ในบางคน ข้อเท้า และตัวเท้ามีลักษณะบิดเบี้ยวไป ฝ่าเท้างอเข้ามาทางด้านใน ปลายเท้าจิกลง รูปร่างเหมือนไม้ตีกอล์ฟ เรียกว่า “เท้าปุก”

ท่านผู้อ่านหลายๆท่าน คงจะเคยเดินบนสะพานลอย และเห็นขอทานที่มาขอสตางค์เรา หลายๆคนพิกลพิการ มีเท้าบิดงอเข้าด้านใน เดินไม่ถนัด หรือท่านอาจจะเคยเห็นญาติพี่น้อง คนรู้จัก ที่เดินด้วยหลังเท้าแทนที่จะเป็นฝ่าเท้า ความพิกลพิการนี้ ตามทางการแพทย์เราเรียกว่า “เท้าปุก” ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป และที่สำคัญถ้าได้รับการรักษาถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถหายกลับมาเป็นปกติได้

ธรรมดา คนเราเวลาเกิดมาปกติ เราจะเดินโดยการใช้ฝ่าเท้าสองข้างของเราเหยียบลงไปบนพื้น ภาษาแพทย์เรียกว่า ลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้า หมายถึงเวลาเรายืน น้ำหนักตัวของเราทั้งหมด จะตกลงไปรวมที่ฝ่าเท้าของเรา ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าสร้างให้มีลักษณะแบนราบ และมีเนื้อหนา เหมาะสมสำหรับการรับน้ำหนักและการเคลื่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง

แต่ในคนบางคน ข้อเท้า และตัวเท้ามีลักษณะบิดเบี้ยวไป ฝ่าเท้างอเข้ามาทางด้านใน ปลายเท้าจิกลงรูปร่างเหมือนไม้ตีกอล์ฟ เรียกว่า “เท้าปุก” หรือภาษาอังกฤษว่า Clubfoot โดยมากจะเป็นตั้งแต่เป็นเด็กทารก คนทั่วไปก็สามารถวินิจฉัยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมารดา ที่มักจะเอาใจใส่ดูแลลูกน้อยอย่างเป็นพิเศษอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้รับการรักษา เพราะบิดามารดาปล่อยปละละเลย เมื่อเด็กอายุได้หนึ่งขวบจะต้องยืนต้องเดิน เด็กก็จะเดินด้วยหลังเท้าแทนที่จะเป็นฝ่าเท้า ไม่สามารถเดินได้เหมือนคนปกติ และฝ่าเท้าข้างที่เป็นเท้าปุกจะเล็กกว่าอีกข้าง ขาจะสั้นกว่า และกล้ามเนื้อลีบเล็กมากกว่าข้างปกติ นี่คือลักษณะโดยทั่วไปของผู้เป็นเท้าปุกที่ไม่ได้รับการรักษา

การรักษาเราจะต้องรักษาตามสาเหตุจึงจะหายได้ สาเหตุส่วนมาก เรายังไม่ทราบชัดเจนว่าเกิดจากอะไร และมีบางส่วนที่เป็นร่วมกับโรคอื่นๆ ส่วนที่เป็นโรคร่วมกับโรคอื่นๆ โดยไปเป็นส่วนหนึ่งของโรคนั้น เราจะสามารถรักษาได้ด้วยการรักษาตามโรคนั้นๆไป ผลการรักษาก็จะเป็นไปตามโรคนั้นๆ เอง

แต่ถ้าหากหาสาเหตุไม่ได้ ปัจจุบัน เราสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการดัดหรือใส่เฝือกตั้งแต่เล็กๆ เท้าก็จะหายเป็นเหมือนหรือเกือบเหมือนคนปกติได้

ในสมัยก่อน การผ่าตัดรักษาเท้าปุก เป็นที่นิยมมาก และแพทย์คิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษา แต่ต่อมาพบว่า หลังผ่าตัดผู้ป่วยกลับเดินได้ไม่เหมือนปกติ มีการคิดวิธีการผ่าตัดมากมายหลายแบบแต่ผลที่ได้กลับไม่แตกต่างกัน

ในปี 1940 ศาสตราจารย์ อิกนาซิโอ พอนเซติ ได้คิดค้นวิธีใหม่ โดยใช้วิธีการดัดขาด้วยมือ และการใส่เฝือก ให้เท้าค่อยๆกลับมาอยู่ในรูปปกติ โดยแบ่งการรักษาออกเป็นสองขั้นตอนคือ

ขั้นตอนที่หนึ่ง การดัดด้วยเฝือกให้เท้ากลับมาอยู่ในรูปปกติ ควรเริ่มทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์แรกของชีวิต เมื่อดัดให้เข้ารูประดับหนึ่งแล้ว เด็กจะได้รับการใส่เฝือกไว้ เพื่อให้ขาที่ดัดคงสภาพนั้น หลังจากนั้น หนึ่งอาทิตย์เฝือกแรกจะถูกเอาออก เพื่อใส่เฝือกที่สองต่อไป โดยรูปเท้าจะเริ่มเข้าที่ ทีละน้อยๆ จนในที่สุด ก็สามารถหายเป็นปกติได้ โดยปกติจะต้องเปลี่ยนเฝือกใส่ใหม่ประมาณ 5-6 ครั้ง หลังจากเข้ารูปดีแล้ว ขั้นที่สองได้แก่การรักษาให้คงสภาพเอาไว้ ด้วยการดัดบ่อยๆให้เข้าที่ หรือแพทย์บางท่านอาจจะแนะนำให้ใส่รองเท้าหรือเครื่องมือพิเศษช่วยก็ได้

จะเห็นได้ว่า โรคเท้าปุก แม้จะมีลักษณะพิการ ดูแล้วรักษาได้ลำบากก็ตาม แต่ถ้าได้พบและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆแล้ว ผู้ที่เป็นสามารถหายและเดินได้เกือบเหมือนหรือเหมือนคนปกติ แต่ถ้าไม่รักษาความพิกลพิการนั้น จะทำให้เกิดความทุพพลภาพ และตัดโอกาสหลายๆอย่างในชีวิตเราไปได้ ดังนั้น ถ้าหากท่านมีญาติ พี่น้อง หรือคนรู้จัก เป็นโรคเท้าปุกอย่าลืมพาไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและหายได้อย่างดีครับ วัสลามฯ

โดย นพ.กษิดิษ ศรีสง่า

สุขสาระ มกราคม 2554

Tags : all พบหมอ

แก้ไขล่าสุด : 26 มิ.ย. 2562, เวลา 00:42


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่