อาหารต้านโรคช่วงหน้าฝน

วิธีดูแลสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัยในหน้าฝน สำหรับทุกวัย โดยเฉพาะอาหาร 10 เมนู ช่วยต้านโรคช่วงหน้าฝน ที่ทำกินเองได้ที่บ้าน หรือซื้อหามารับประทานได้ไม่ยาก

คอลัมน์ : อาหารกับสุขภาพ

อาหารต้านโรคช่วงหน้าฝน

ครูกุ๊ก

สภาพอากาศที่อับชื้นและเย็นลงในหน้าฝน เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค และพร้อมโจมตีคุณได้ทันที การดูแลสุขภาพจึงไม่ใช่เพียงแค่การรับประทานยาเพื่อรักษาโรคเท่านั้น ยังต้องให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายควบคู่กันไปด้วย

วิธีดูแลสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัยในหน้าฝน เริ่มต้นง่าย ๆ ที่ตัวคุณเอง ดังนี้

สำหรับเด็ก ๆ สิ่งที่ต้องกังวลเป็นพิเศษ คือ เชื้อโรคที่เกิดจากการสัมผัส เพราะเด็กๆ ส่วนใหญ่ มักไม่ค่อยใส่ใจรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของตัวเอง เช่น โรคตาแดง ที่อาจเกิดจากน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา หรือนำมือที่เปื้อนสิ่งสกปรก ไปสัมผัสโดนดวงตา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโรคที่มากับการรับประทานอาหารหรือน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ อย่างไรก็ตาม ในหน้าฝน มักพบไข้หวัดระบาดในเด็ก ซึ่งสาเหตุก็มาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือเด็กตากฝนจนไม่สบาย

ส่วนผู้สูงวัย ซึ่งมีภูมิต้านทานโรคต่ำตามสภาพร่างกายที่อ่อนแอลง อาจป่วยเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเช่นกัน ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยในคนสูงอายุ คือ โรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ซึ่งสามารถลุกลามไปถึงโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมได้ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำท่วมขังปัสสาวะหนูตามพื้นถนนที่ปนเปื้อนอยู่ เมื่อเดินเท้าเปล่าอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อบุผิวหนัง จนป่วยเป็นโรคเลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู ดังนั้น หากมีคนชราอยู่ที่บ้าน ควรดูแลเป็นพิเศษ เน้นย้ำเรื่องการสวมใส่รองเท้า หากเดินออกไปนอกบ้าน หรือเข้าไปในสวนหรือที่ชื้นแฉะ เพราะคนสูงวัยจำนวนไม่น้อยที่ชอบทำสวนและปลูกต้นไม้เป็นงานอดิเรก

สำหรับคนวัยทำงานอย่างเราๆ ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะ คนวัยทำงานส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย เนื่องจากภาระหน้าที่การงานรัดตัว จึงทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลง เป็นสาเหตุให้ป่วยเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ได้ หรือแม้กระทั่งการถูกยุงกัดก็อาจส่งผลให้เป็นโรคไข้เลือดออกหรือไข้สมองอักเสบได้เช่นกัน

ดังนั้น หน้าฝนนี้ ควรดูแลสุขภาพตนเองอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสภาพและมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศได้ คำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพในช่วงหน้าฝน คือ

  1. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  2. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และดื่มน้ำสะอาด
  4. ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รู้สึกว่าร่างกายอ่อนแอ
  6. ออกกำลังกายเป็นประจำ
  7. ระวังอย่าให้ถูกยุงกัด

นอกจากดูแลตัวเองจากภายนอกแล้ว เรายังมีอาหารที่ช่วยต้านหวัดในช่วงหน้าฝนมาฝากกันดังนี้

  1. ซุปไก่ร้อนๆ ช่วยลดอาการคัดจมูก อาจเติมผักเข้าไปเพื่อเพิ่มสารทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี ซุปไก่ที่ผ่านกระบวนการตุ๋นนานๆ จนโปรตีนย่อยสลายเป็นไดเปปไทด์ จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ร่างกายสดชื่น และยังให้โปรตีนที่ดีต่อร่างกายด้วย 
  2. แกงเลียง ขึ้นชื่อว่าเมนูอาหารแก้หวัดก็ต้องนึกถึงเมนูแกงเลียงเป็นอันดับแรก ๆ ตักซดร้อน ๆ จมูกโล่งโปร่งสบายดีนักแล ทีเด็ดก็อยู่ตรงที่ความเผ็ดร้อนจากเครื่องแกงที่จัดมาทั้งกระชาย พริกไทยดำ และหอมแดง และผักที่ใส่ลงไปในแกงเลียงนี่แหละ เขาว่ากันว่า ช่วยแก้หวัดชะงัดนัก
  3. เนื้อปลาจำพวกปลาแซลมอน ปลาทูน่าและปลาแมคเคอเรล เพราะกรดไขมันโอเมกา 3 จะเข้าไปช่วยลดอาการอักเสบ สาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของเราอ่อนแอลง ฟื้นคนป่วยไข้หวัดให้กลับมาแข็งแรงได้เร็ว หอยนางรม นอกจากจะมีโอเมกา 3 แล้วยังมีธาตุสังกะสีที่ช่วยเสริมให้เม็ดเลือดขาวแข็งแรง ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อต้านไวรัส หรือแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดได้
  4. อาหารต่างๆ ที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ อาหารที่มีวิตามินซี ฝรั่ง พริกหวาน สตรอว์เบอร์รีสับปะรด หรือกะหล่ำปลี ล้วนแล้วแต่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้ ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีนหรือ วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี จะช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย และป้องกันการติดเชื้อได้ ผัก ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น แครอท ผักใบเขียวจัด ส้ม ฝรั่ง องุ่น แคนตาลูป มะละกอสุก เป็นต้น 
  5. อาหารรสเผ็ดรวมทั้งเครื่องเทศ  เช่น กระเทียม สามารถช่วยลดอาการหวัด จะใช้ใส่ปรุงลงในอาหารหรือเคี้ยวสดๆวันละ 1 - 2 กลีบก็ได้  ขิง จะช่วยลดอาการหวัดและป้องกันโรคหวัดได้ น้ำขิงร้อนๆ ผสมกระเทียม 2-3 กลีบ ช่วยให้ระบบหายใจทำงานคล่องขึ้น พริก ความเผ็ดของพริกมาจากสารชื่อ "แคปไซซิน" พริกยังมีสารสำคัญอีกหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินเอ ธาตุเหล็ก และแคลเซียม ลดอาการคัดจมูก ช่วยให้หายใจโล่งขึ้น 
  6. แกงส้มดอกแค ไล่ไปตั้งแต่เครื่องแกงที่มีส่วนประกอบสมุนไพรต้านหวัดหลายชนิดและด้วยการปรุงที่มีรสชาติเผ็ดผสมเปรี้ยวจะช่วยบำรุงธาตุลมและธาตุน้ำได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันดอกแคยังมีคุณสมบัติบำรุงธาตุไฟดังนั้นเมนูนี้จึงมีประโยชน์ทั้งช่วยบำรุงธาตุและระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านหวัดได้อย่างแน่นอน
  7. ชาร้อน เป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มากชนิดหนึ่ง เพราะชาร้อนมีสารโพลิฟีนอล (Polyphenol) และสารแอนติออกซิแดนท์ (Antioxidant) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดอาการติดเชื้อ ทำให้เยื่อบุภายในโพรงจมูกชุ่มชื่น รู้สึกหายใจสะดวกมากขึ้น ซึ่งการดื่มชาร้อนที่เหมาะสมควรดื่มชาหลังรับประทานอาหาร 2-3 ชั่วโมง
  8. ดื่มน้ำมากๆ อาจเป็นน้ำผลไม้คั้นสดก็ได้ เพื่อเสริมวิตามินซีให้กับร่างกายหรืออาจเป็นเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น ชา น้ำมะนาวอุ่นๆ ก็จะช่วยลดเสมหะได้ แต่ควรงดกาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน 
  9. ผลไม้ตระกูลส้ม ซึ่งมีวิตามินซีสูงช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อหวัดได้ การสูบบุหรี่หรืออยู่ในแวดวงของคนสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดและทำให้ร่างกายต้องการวิตามินซีสูงขึ้น 
  10. โยเกิร์ต ช่วยเพิ่มการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวและช่วยเพิ่มการสร้างสารแอนติบอดีบางชนิดได้ การรับประทานโยเกิร์ตทุกวันจะช่วยลดอาการหวัดและภูมิแพ้ได้ 

อาหารดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานและบรรเทาอาการหวัด แต่สิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอก็คือการพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย เพียงเท่านี้ร่างกายก็จะแข็งแรงมีภูมิต้านทานต่อโรคหวัดและโรคอื่นๆ อีกด้วย

ข้อมูล

http//:lph.go.th(เว็บโรงพยาบาลลำปาง) และ www.health.mthai.com 

http://www.manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?NewsID=9580000082839

http://www.hongthongrice.com/life/5022/rainingseason/

https://cooking.kapook.com/view120750.html

http://www.thaiquote.org/content/2369

 

สุขสาระ มิถุนายน 2560

Tags : all โรค สมุนไพร อาหาร

แก้ไขล่าสุด : 13 พ.ค. 2562, เวลา 10:32


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่