สุดชื่นมื่น MoU 3 ฝ่าย "เลิกบุหรี่บ้านละคน"

บันทึกความร่วมมือ MoU เลิกบุหรี่บ้านละคน

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) จัดเวทีลงนามบันทึกความร่วม (MoU) “เลิกบุหรี่บ้านละคน” ระหว่างมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) สาธารณสุขจังหวัดยะลา สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ณ ห้องฟาฎอนี โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี โดยมี ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย เป็นประธานเปิดงาน

นางสาวกัลยาณา วาจิ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า

จากการดำเนินงานของโครงการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้านตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การรณรงค์ “เลิกบุหรี่บ้านละคน” ได้ยึดแนวทางในการดำเนินงานโดยใช้บ้านเป็นจุดเริ่มต้นผ่านเครือข่ายอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่เป็นแกนนำที่คอยแนะนำให้คำปรึกษาและกระตุ้นคนในบ้านผ่านภรรยาและบุตร (โดยเฉพาะบุตรสาว) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คนในบ้านเลิกบุหรี่ จะเห็นได้ว่าคนในครอบครัวเริ่มให้ความสำคัญและตระหนักถึงพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ทั้งต่อผู้สูบบุหรี่โดยตรง และผลกระทบที่เกิดจากบุหรี่มือสองและบุหรี่มือสาม ซึ่งคนในครอบครัวโดยเฉพาะภรรยาและลูกไม่เคยรู้มาก่อนว่าบุหรี่มือสองและบุหรี่มือสามเป็นอย่างไรและใครที่จะได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ จึงมีพฤติกรรมเมินเฉยกับคนในบ้านที่สูบบุหรี่ หลังจากการจัดกิจกรรมโดยผ่านกลุ่มอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่มาเป็นแกนนำรณรงค์ในพื้นที่รูปแบบต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักมากขึ้น โดยสังเกตุจากคนในบ้านให้ความร่วมมือกับทีมอาสาสมัครฯในการช่วยคนในบ้านให้เลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานที่จะสามารถทำให้งานประสบผลสำเร็จได้

การสร้างแกนนำของชุมชนในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เรื่องอันตรายและผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยเน้นไปที่บทบาทของครอบครัว(ภรรยาและบุตร)โดยเฉพาะบุตรสาวนั้น จึงเป็นเป้าหมายหลักที่มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย(สสม.) วางแผนและได้ดำเนินงานโครงการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้านเพื่อควบคุมการบริโภคบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ โดยต้องทำให้สมาชิกในครอบครัวเลิกบุหรี่ให้ได้อย่างน้อย 1 คน (เลิกบุหรี่บ้านละคน) ทั้งนี้ การดำเนินงานที่จะเน้นบทบาทของภรรยาและบุตรสาวเนื่องจากสาเหตุ 2 ประการ

1.ภรรยามีบทบาทสำคัญในการใช้จ่ายของครัวเรือนและมีความใกล้ชิดอบรมดูแลบุตร

2.บุตรสาวจะมีสถานะของภรรยาและมารดาในอนาคตจึงมีศักยภาพที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวไม่สูบบุหรี่(ครอบครัวใหม่ไม่สูบบุหรี่)"

การเปิดเวทีในวันนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานในชุมชนและสังคม เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นและความตั้งใจร่วมมือกันในการดำเนินงาน เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่โดยมุ่งหวังให้คนในชุมชนและสังคมได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ อีกทั้งให้เห็นถึงความสำคัญของการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เรื่องพิษภัยของบุหรี่ ในการดำเนินงานโครงการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน รวมถึงโครงการอื่น ๆ ของแผนงานจะดำเนินการประสานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในและนอกพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาให้เกิดกลไกสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของสังคมไทยโดยรวมอย่างยั่งยืน

ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย กล่าวว่า

"การทำงานของแผนงานสร้างสุขมุสลิมไทยในช่วงที่ผ่านมาวางรากฐานอยู่บนหลักการสำคัญสองข้อ ข้อแรกสุขภาพมุสลิมไทยไม่ได้แตกต่างไปจากปัญหาสภาวะของคนไทยกลุ่มอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ อาจเป็นไปได้ว่าบางปัญหามีความรุนแรงในกลุ่มคนมุสลิมไทยมากกว่าหรือน้อยกว่าในประชากรกลุ่มอื่นในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกสังคม แผนงานฯให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับปัญหาที่รุนแรงมากกว่า และมีเป้าหมายที่จะลดความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ให้อยู่ในระดับที่ไม่มากกว่าความรุนแรงในประชากรกลุ่มอื่น ข้อสอง แผนงานฯใช้หลักการอิสลามในการสร้างเสริมสุขภาวะและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในกลุ่มมุสลิมไทย "

โครงการ : เลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน

แก้ไขล่าสุด : 30 พ.ย. 2563, เวลา 14:52


กิจกรรมอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่