ควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพในมุสลิมไทย

โครงการ สสม. ที่เน้นแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องบุหรี่

โครงการ ควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพในมุสลิมไทย

ชุดโครงการการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของมุสลิมไทย เน้นแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องบุหรี่ ได้แก่ โภชนาการ ความดันโลหิต โรคเบาหวาน การออกกำลังกาย รวมทั้งปัญหาช่องว่างปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่หญิงมีมากกว่าชาย โดยมีความแตกฉานทางสุขภาพ (Health Literacy) และหลักหะลาลหะรอมทางการแพทย์เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างสุขภาวะให้ดีขี้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความยากจน ก็เป็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นต้นทางของอีกหลายปัญหาที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเยาวชนและการเข้าถึงบริการต่างๆ โดยเฉพาะ การแพทย์ และการศึกษา ทั้งนี้การดำเนินงานจะสร้างและใช้กลไกที่เหมาะสม การให้ความสำคัญกับคำสอนอิสลามที่เกี่ยวกับสุขภาวะ โดยเฉพาะหลักการหะลาลหะรอมทางการแพทย์ ลักษณะเฉพาะทางชาติพันธุ์ บทบาทขององค์กรศาสนาและองค์กรอื่นๆ รวมถึงชุมชน

วัตถุประสงค์ทั่วไป (General Objective)

  1. เพื่อให้มุสลิมไทยมีความแตกฉานทางสุขภาพตามหลักหะลาลหะรอมทางการแพทย์ มีการนำไปเผยแพร่และปฏิบัติอย่างแพร่หลาย
  2. เพื่อเพิ่มพื้นที่สุขภาวะในชุมชนที่เอื้อต่อการลดช่องว่างทางสุขภาพ ระหว่างชาย-หญิง

วัตถุประสงค์เฉพาะ (Specific Objectives)

  1. เพื่อเสริมสร้างความแตกฉานทางสุขภาพ และความรู้ความเข้าใจที่สอดคล้องกับหลักหะลาลหะรอมทางการแพทย์ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ
  2. เพื่อพัฒนารูปแบบการนำองค์ความรู้ ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในระดับพื้นที่

พื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย

  • ภาคใต้ตอนล่าง ปัตตานี (ตำบล รูสะมิแล อำเภอเมือง)นราธิวาส (ตำบลบองอ อำเภอระแงะ)
  • ภาคใต้ตอนกลางและตอนบน แยกเป็น 3 กลุ่มจังหวัด คือ กลุ่มที่ 1 สงขลา  (ตำบลปริก อำเภอสะเดา , ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี) พัทลุง (ตำบลคลองทรายขาว อำเภอกงหรา) กลุ่มที่ 2 ตรัง (ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง)กระบี่ (ตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา , ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา) กลุ่มที่ 3 ชุมพร  (ตำบลหงษ์เจริญ อำเภอท่าแซะ) ระนอง (ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์)
  • ภาคกลางรวมถึงภาคตะวันออกและภาคตะวันตก กรุงเทพฯ  (แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี) ฉะเชิงเทรา (ตำบลสิงโตทอง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว) ตราด (ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ)
  • ภาคเหนือ เชียงใหม่ (ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง) ตาก (ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด)

 

กรอบแนวคิดการดำเนินงาน

  1. รวบรวมประสบการณ์ “ป่วยเพราะไม่รู้” จากผู้สูงวัย และผนวกรวมกับองค์ความรู้ทางวิชาการและหลักการหะลาลหะรอมทางการแพทย์
  2. เผยแผ่ประสบการณ์และความรู้ที่รวบรวมได้ตามข้อ 1 ให้แก่มุสลิมไทยในวงกว้างผ่านสื่อมุสลิมไทย
  3. จัดเวทีตีแผ่ปัญหา NCDs ในมุสลิมไทย รวมถึงช่องว่างทางสุขภาพระหว่างชายและหญิง เผยแผ่ประสบการณ์และความรู้ และกระตุ้นบทบาทของเครือข่ายในพื้นที่เป้าหมาย
  4. ประสานความร่วมมือในการดำเนินงานกับองค์กรศาสนา และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เป้าหมาย

แก้ไขล่าสุด : 26 ธ.ค. 2561, เวลา 00:00


มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่